ค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน จัดขึ้นโดยกองส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมและสมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลางแห่งประเทศไทย เพื่อต้องการสร้างเยาวชนให้มีความสามารถพิเศษด้านเพลงพื้นบ้าน โดยคัดสรรเยาวชนจากทั่วประเทศที่มีความรู้ความสามารถสูงมาจัดอบรมแบบเข้มข้นพร้อมมอบถ้วยพระราชทานและทุนการศึกษาที่จูงใจเพื่อต่อยอดให้มีความเชี่ยวชาญยิ่งขึ้น ซึ่งผลการดำเนินการของโครงการ 1-5 ที่ผ่านมาเยาวชนกลุ่มนี้รวม 160 คนกลายเป็นกำลังสำคัญในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ หลายคนเป็นครู อาจารย์สอนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาหลายคนเรียนต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโทและทำงานในองค์กรสำคัญ ๆ
โครงการค่าย "เพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน รุ่นที่ 6" โดยวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธาน ในพิธีเปิดโครงการ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-20 มกราคม พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทย “แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์” อำเภอเมืองสุพรรณบุรีและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร โดยรับสมัครเยาวชนที่มีความสามารถด้านเพลงพื้นบ้าน จำนวน 40 คน เข้าร่วมโครงการ ภายในโครงการจะแบ่งออกเป็นกิจกรรมการอบรมระยะเวลา 2 วัน ก่อนเริ่มการอบรบแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์จะจัดพิธีไหว้ครูให้กับนักเรียนที่เข้ามาค่ายฝึกเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน-เพลงอีแซว เพื่อความเป็นขวัญกำลังใจและความเป็นศิริมงคลแก่ผู้เข้าร่วมอบรม โดยทางโครงการได้เชิญศิลปินพื้นบ้านชั้นครูมาร่วมเป็นวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา อาทิ แม่ขวัญจิต ศีรประจันต์ แม่ลำจวน เกษมสุข พ่อโกมินทร์ พูลเขตกิจ พ่อบรรจง ทัพวิเศษ พ่อสุจินต์ ชาวบางงาม พ่อแหยม เถื่อนสุริยา แม่สำเนียง ชาวปลายนา แม่พยงค์ เทียนแจ่ม แม่วิภาวรรณ เทียนแจ่ม แม่ประจิน ฉะอ้อน แม่บุนนาค วรรณนะกากิจ พ่อยน โพธิพล แม่อารมณ์ บุญเสริม แม่สมบัติ ศีรประจันต์ และแม่สุภาพร อร่ามศรี หลังจากเสร็จพิธีไหว้ครู พ่อเพลงแม่เพลง ได้ร่วมกันร้องเพลงพื้นบ้านเป็นตัวอย่างให้กับคณะนักเรียน นักศึกษาได้ชม นอกจากนี้ยังมีการเสวนาเพลงพื้นบ้านในหัวข้อ “การสร้างสรรค์เพื่อสังคมปัจจุบันที่ได้แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ อาจารย์อเนก นาวิกมูล รศ.ดร.ปรมินทร์ จารุวรและอาจารย์ปัทมา ดำประสิทธิ์ รวมถึงคณะวิทยากรที่มากความรู้ความสามารถมาร่วมงานอีกเป็นจำนวนมาก นักเรียนนักศึกษาที่เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ถึงเรื่องของการสืบทอด และรักษามรดกภูมิปัญญาให้คู่ไทยใน “เพลงพิษฐานและเพลงพวงมาลัย” “เพลงเต้นกำ” เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ การแต่งและการร้องเพลงพื้นบ้านในงานพิธี เพลงพื้นบ้านเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพลงพื้นบ้านผ่านสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ หลังจากนั้นจะมีกิจกรรมการประกวดอีก 1 วัน เพื่อชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยถือว่าเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านการแสดงเพลงพื้นบ้าน อย่างรู้จริง ทำจริง จากศิลปินแห่งชาติและกลุ่มศิลปินเพลงพื้นบ้านอย่างแท้จริง ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: https://www.facebook.com/Porkla/
|